
ริชาร์ด มาสเตอร์ ซีอีโอของพรีเมียร์ลีกคนปัจจุบันออกมากล่าวด้วยแววตากังวลต่อสถานการณ์ของเกมลูกหนังที่กำลังโดนจองจำด้วยโรคระบาดโดยแยกออกมาเป็น 3 หัวข้อดังนี้
1. เขาเข้าใจถ้าจะมีสโมสรไหนเลือกเข้าช่อง”furlough”อันหมายถึงให้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานบางส่วน 80%ซึ่งเป็นมาตการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ยากลำบากในตอนนี้
2. เขาเองก็ได้ออกมาคาดการณ์ด้วยว่าในกรณีที่บอลเตะไม่จบซึ่งก็คือต้องโมฆะไป พรีเมียร์ลีกเองต้องสูญเงินถึง 1พันล้านปอนด์
3. แน่นอนผลกระทบที่ตามมาก็จะเหมือน”โดมิโน่”เพราะไม่ใช่ว่าทุกสโมสรจะมีเจ้าของร่ำรวยคอยสนับสนุนเหมือนกันหมด
นั่นเองทำให้การประชุมคอนเฟอเรนซ์ทั้งสามครั้งระหว่างตัวแทนพรีเมียร์ลีกกับตัวแทนของทั้ง 20 สโมสรจึงมีมติเอกฉันท์ เสียงส่วนมากลงความเห็นว่า”ยังไงก็ต้องเตะให้จบ”จะตอนไหนก็ตามแต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในทุกด้าน รัฐบาลเห็นชอบแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขไฟเขียวแล้ว

ดร.แดน พลัมลี่ย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินวงการกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลัมได้วิเคราะห์เอาไว้ว่าโควิด-19ไม่ได้แค่จะเข้าทำลายปอดของมนุษย์แต่ตอนนี้ก็ค่อยๆกัดเซาะเข้าไปทำให้หลายทีมกำลังใช้”เครื่องช่วยหายใจ”ประหนึ่งคนป่วยในห้องไอซียู
แน่นอนเขาไม่ได้หมายถึงแค่20 สโมสรลีกสูงสุดแต่ยังอีกหลายร้อยหลายพันสโมสรทั่วเกาะรวยเชื้อชาติ ยิ่งทีมเล็กลงไปเท่าไร รายได้หลักก็มาจากค่าตั๋วเข้าสนามแต่ละเกม
ถึงที่เขียนตอนนี้มี 5 ทีมพรีเมียร์ลีกได้เลือกเข้าช่อง”furlough”ซึ่งตัดลิเวอร์พูลที่ได้กลับลำออกไป ก็จะเหลือท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ส, นิวคาสเซิ่ล, บอร์นมัธและนอริช
มันก็เหมือนภาพทั่วไปที่คนมองธุรกิจสักอย่าง มันมีบริษัทที่ดังใหญ่โต มีขนาดกลางและมีขนาดย่อมเยาว์ มีการเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการเมื่อสิ้นสุดซีซั่น 2018/19 ออกมาซึ่งทีมไก่เดือยทองกำไรถึง87.4 ล้านปอนด์ นั่นจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าทำไมเสียงต่อต้านถึงดังนับแต่ที่พวกเขาประกาศ(นั่นก็ทำให้บอร์ดหงส์แดงโดนวิจารณ์หนักเช่นกันก่อนมายูเทิร์นภายหลัง)
ใช่ ไม่ผิดที่ทำ มันเป็นช่องทางที่รัฐบาลเสนอเองเพื่อช่วยเหลือแต่ถามใครต่อใครก็ได้คำตอบเดียวกัน”เงินพวกนั้นมาจากภาษีของประชาชน มีเอาไว้ช่วยเหลือคนที่ลำบากจริงๆหรือพวกธุรกิจรายย่อยที่เดือดร้อน”

ทีมรองลงมาอย่างบอร์นมัธขาดทุนไป 32.4 ล้านปอนด์ ส่วนนอริชซึ่งยิ่งน่าห่วงนอกจากติดลบ 39.4 ล้านปอนด์แล้ว โอกาสจะตกชั้นก็มีสูงจึงยิ่งต้องรัดเข็มขัดเต็มพิกัด
ขยายภาพให้ชัดขึ้น สมมติว่าต้องโมฆะไปจริงๆแล้วสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในฐานะมีสนามแข่งขันใหญ่ที่สุดก็ต้องเสียหายตกที่ราว 17 ล้านปอนด์จากอีก 5 เกมในบ้านที่เหลืออยู่ อันนี้คำนวนเฉพาะแต่เม็ดเงินบัตรเข้าชม, สินค้าที่ระลึกที่คาดว่าจะขายได้ตลอดจนถึงโฆษณาต่างๆ
บางคนอาจคิดว่า”17 ล้าน”ถือว่าจิ๊บจ๊อยสำหรับผีแดงแต่ลองไปถามเอ๊ด วู้ดเวิร์ดหรือพวกเกลเซอร์ดูซิว่ามันส่งผลกระทบแค่ไหนกัน อย่างไรก็ตามถ้าคิดรวมค่าเสียหายทั้งหมดก็จะตกอยู่ถึง 116ล้านปอนด์ทีเดียวเมื่อรวมเอาลิขสิทธิทีวีกับสปอนเซอร์ทางการค้าเข้าไปด้วย
ก่อนหน้าที่โลกจะรู้จัก”โคโรนาไวรัส”ก็คาดกันว่ายอดรายได้ของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ตกอยู่ที่ 5.25 พันล้านปอนด์ มากกว่าบุนเดสลีกากับลา ลีกาถึง 2 พันล้านปอนด์ กระนั้นทีมจากอังกฤษก็มีรายจ่ายที่สูงกว่าทางเยอรมันหรือสเปนโดยรวมอยู่กว่าครึ่ง
สำคัญที่สุดมาจากลิขสิทธิถ่ายทอดสดซึ่งก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาต้องยืดเวลาออกไปโดยไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาเตะให้จบได้เมื่อไร
มีการแจกแจงเอาไว้ว่าเงินหมุนเวียน60%ของแต่ละสโมสรนั้นมาจากเงินก้อนโตที่ได้จากการขายลิขสิทธิทีวี”รายได้จากการถ่ายทอดอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซนต์ของสโมสรพรีเมียร์ลีก ดังนั้นจากการที่เกมต้องหยุดไป สโมสรไหนไม่มีแผนสำรองเอาไว้รองรับเลยก็น่ากังวลแทน”
ซีซั่น2017/18รายได้รวมของลีกขวัญใจมหาชนอยู่ที่ 4.8 พันล้านปอนด์ มาจากสามทางหลักประกอบด้วย ถ่ายทอดสด, สปอนเซอร์และวันแมตช์เดย์
แน่นอน…การโมฆะอาจเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดและอาจรวมถึงทำให้กองเชียร์บางคนสะใจแต่จะระยะสั้นหรือระยะยาวก็อาจส่งผลเชิงลบกับสโมสรที่พวกเขาเชียร์ก็ได้
ดร.สเตฟาน ซีมาสนสกี้ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยในมิชิแกน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือฟุตบอลเชิงธุรกิจที่ขายดีมาก”Soccernomics”ได้สรุปจนเห็นภาพเอาไว้ดังนี้”พรีเมียร์ลีกไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่ถามว่ามันมีธุรกิจใดบ้างที่ตอนนี้ไม่รู้สึกหวาดผวากับสิ่งที่เกิดขึ้น เปรียบเป็นองค์กรแล้วก็ต้องบอกว่าพรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก พวกเขามียอดเติบโตรวดเร็วตลอด30ปีมานี้ เป็นสินค้าที่มีแต่คนอยากมาจับต้องหรือมีส่วนร่วมแต่วันนี้ที่พวกเขากำลังลำบาก มีใครบ้างที่แคร์พวกเขา?”